นวัตกรรมอัจฉริยะจากฮอนด้า
คุณค่าใหม่เพื่อยกระดับ
คุณภาพชีวิต

เผยโฉมยนตรกรรมขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า พร้อมแนะนำนวัตกรรม
ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า (Big Data) และโรโบติกส์ (Robotics)

ฮอนด้ามุ่งมั่นสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้คน โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน ในการนำเสนอเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตที่จะเปลี่ยนประสบการณ์ในการเดินทางให้กับผู้คน ฮอนด้าจึงคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์อันล้ำสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด รวมถึงยานยนต์ที่ขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีคาร์บอนต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของฮอนด้าในการสร้างสรรค์ "ผลิตภัณฑ์ที่มอบความสุขในการเดินทางให้กับผู้คน” (The Joy and Freedom of Mobility) เพื่อ “การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมอันยั่งยืน” (A Sustainable Society where People Can Enjoy Life)

1. Automated Driving

ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของฮอนด้า (Automated Driving)

แนวคิดในการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของฮอนด้า
สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนใหญ่มาจากความผิดพลาดของมนุษย์ ฮอนด้าจึงมุ่งมั่นคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเน้นให้ความสำคัญกับการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดอุบัติเหตุ

นอกจากนี้ ฮอนด้ายังต้องการสร้างความสุข และความสะดวกสบายในการเดินทางให้กับทุกคน เพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถใช้ชีวิตประจำวันในการเดินทางได้อย่างปลอดภัย รวมถึงผู้สูงอายุ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของฮอนด้า จึงมุ่งเน้นการมอบความสุขภายในห้องโดยสารที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว ตลอดการเดินทาง

สำหรับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในการจราจรบนท้องถนนที่มีความซับซ้อนนั้น ต้องอาศัยการคำนวนความเสี่ยงที่มีความแม่นยำสูง เพื่อประเมินสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ล่วงหน้า และสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านั้นได้ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของฮอนด้า จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ขับขี่ เพราะความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินทาง

ด้วยเหตุนี้ ฮอนด้าจึงได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง ที่มีระบบช่วยการขับขี่ ภายใต้ชื่อ Honda Sensing และในอนาคต ฮอนด้าจะยังคงมุ่งมั่นต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยใน 4 ด้าน ได้แก่ ลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เพิ่มวิสัยทัศน์ให้กับผู้ขับขี่ หลีกเลี่ยงการเกิดอุบติเหตุ และลดภาระของผู้ขับขี่

การทำงานของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของฮอนด้า
ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของฮอนด้า ประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญในการประมวลผลและคำนวนข้อมูลต่างๆ ได้แก่

1. แผนที่ ECU จะรับแผนที่ที่มีความแม่นยำสูง และข้อมูลการจราจรจากเซิร์ฟเวอร์ ผ่านหน่วยโทรคมนาคม (Telecommunications Units) และระบบจะทำการประมวลผลข้อมูลนี้ กับข้อมูลการระบุตำแหน่งจาก Multi-GNSS-ANT เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการระบุตำแหน่งที่แม่นยำมากขึ้น

2. เซ็นเซอร์ 2 ระบบที่ทำงานประสานกัน ได้แก่ กล้องกับเรดาร์ และกล้องกับ LiDAR จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการระบุตำแหน่งของวัตถุต่างๆ รวมถึงสิ่งกีดขวางบนท้องถนน ได้ดียิ่งขึ้น โดยมี ECU หลัก ประมวลผลรวมข้อมูลทั้งหมด แล้วจึงคำนวนหาเส้นทางการเดินรถที่เหมาะสมที่สุด ในระหว่างการขับเคลื่อนอัตโนมัติ กล้องจะจับที่ใบหน้าและสายตาของผู้ขับ และคำนวนผลร่วมกับเซ็นเซอร์ควบคุมแรงบิดที่อยู่บนพวงมาลัย โดยระบบจะประเมินและแจ้งข้อมูลการขับขี่ผ่าน HMI (Human Machine Interface) ซึ่งประกอบด้วย ระบบนำทาง มาตรวัดแบบ full-LCD ที่แสดงภาพเส้นทางที่อยู่ด้านหน้า และสัญญาณไฟแสดงสถานะที่อยู่บนพวงมาลัย

การใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติบนถนนทางหลวง (รถวิ่งด้วยความเร็วสูง)
ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่รถสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงบนถนนทางหลวงนั้น ได้รับการพัฒนาให้มีระบบการควบคุมรถในหลายรูปแบบ อาทิ การบังคับพวงมาลัยเพื่อเข้าทางร่วม ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ การเปลี่ยนเลนอัตโนมัติ และการเร่งแซงรถคันที่อยู่ข้างหน้า นอกจากนี้ ในช่วงการจราจรติดขัด ยังสามารถดูโทรทัศน์ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การขับขี่และสภาพแวดล้อม

การคำนึงถึงความปลอดภัยในระหว่างการเปลี่ยนจากระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมาเป็นการขับขี่แบบปกตินั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยระบบจะทำการแจ้งเตือนผู้ขับด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ผู้ขับรับทราบอย่างแน่ชัดว่า ระบบกำลังเปลี่ยนรูปแบบการควบคุมการขับขี่ แต่ถ้าผู้ขับยังไม่ตอบสนองในการควบคุมรถด้วยตัวเอง ระบบจะแจ้งเตือนเป็นลำดับขั้น ดังนี้
1. การแจ้งเตือนด้วยสัญลักษณ์ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์
2. การแจ้งเตือนด้วยระบบเสียง
3. การแจ้งเตือนด้วยการสัมผัสตัวผู้ขับ ผ่านการสั่นสะเทือนของเข็มขัดนิรภัย

การใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติบนถนนที่มีความซับซ้อน (รถวิ่งด้วยความเร็วต่ำ ถนนในเมือง)
การใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติบนถนนทั่วไปนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าบนถนนทางหลวง เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน อาทิ การขับรถสวนกันบนถนนที่ไม่มีเส้นแบ่งเลนตรงกลาง คนเดินเท้าขณะกำลังข้ามถนน รวมถึงเด็กที่อาจวิ่งลงมาบนนถนนด้วยความเร็ว เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ระบบจึงมีการประเมินและคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนตัวของผู้คนที่เดินไปมาบนนถนนที่อยู่ด้านหน้ารถได้อย่างแม่นยำว่าจะไปในทิศทางไหน จากนั้นระบบจึงเปลี่ยนทิศทางการเดินรถโดยอัตโนมัติเพื่อหลบเลี่ยงผู้คน ยานพาหนะ หรือวัตถุอื่นๆ ที่อยู่ด้านหน้าเหล่านั้น โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการประมวลผล

นอกจากนี้ การใช้กล้องตรวจจับวัตถุที่อยู่ด้านหน้ารถแบบ Deep Learning นั้น ระบบสามารถจำแนกวัตถุที่อยู่ด้านหน้ารถได้ว่า เป็นคนเดินเท้า หรือเป็นยานพาหนะ รวมถึงสามารถระบุขอบถนนได้ แม้จะไม่มีเส้นขอบถนนสีขาว และยังสามารถใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในเวลากลางคืนที่วิสัยทัศน์การมองเห็นลดลงได้ด้วย เพื่อแสดงพื้นที่บนถนนที่รถสามารถวิ่งได้อย่างชัดเจน ดังนั้น เทคโนโลยี AI จึงมีส่วนสำคัญในการเรียนรู้ความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นบนท้องถนน ยิ่งเทคโนโลยี AI ได้เรียนรู้สถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ และได้ประมวลผลเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้มากเท่าไร เทคโนโลยี AI จะยิ่งเพิ่มความสามารถในการประเมินความเสี่ยงและหลบเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ฮอนด้ามุ่งสร้างสังคมที่ปลอดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างความสุข และความสะดวกสบายในการเดินทางให้กับทุกคน

ฮอนด้าจึงได้คิดค้นและพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติขึ้นมา โดยได้นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อการประมวลผลการขับขี่ได้อย่างแม่นยำ และสร้างความมั่นใจในการใช้ระบบนี้มากยิ่งขึ้น

2. HONDA CLARITY Plug-In Hybrid
2. HONDA CLARITY Plug-In Hybrid

ฮอนด้า คลาริตี้ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด สามารถวิ่งโดยใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดได้ระยะทางถึง 100 กม. ซึ่งเป็นระยะทางที่วิ่งได้ไกลที่สุดเมื่อเทียบกับรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ขนาดกลางรุ่นอื่น และสามารถวิ่งได้ระยะทางถึง 340 ไมล์ (ประมาณ 547 กม.) ในโหมดการใช้พลังงานไฟฟ้าร่วมกับการทำงานของเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร Atkinson-Cycle 4 สูบ 16 วาล์ว ที่เป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนโดยตรง

เมื่อเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับแบตเตอรี่ สามารถให้กำลังสูงสุด 181 แรงม้า ด้วยแรงบิดสูงสุดที่ 232 ปอนด์-ฟุต (หรือประมาณ 315 นิวตัน-เมตร) และแบตเตอรี่ 17 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ที่สามารถชาร์จไฟได้ถึง 240 โวลต์ ภายใน 2.5 ชั่วโมง โดยคลาริตี้ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด มีอัตราการประหยัดน้ำมัน (EPA Fuel economy rating) สูงถึง 110 ไมล์ต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอน (MPGe) (หรือประมาณ 46.76 กิโลเมตร/ลิตร) นับว่าดีที่สุดในรถยนต์ประเภทเดียวกัน

สามารถปรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่ได้ 3 โหมด เพื่อให้เหมาะกับทุกสภาพการขับขี่และเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ โหมดปกติ (Normal Mode) โหมดประหยัด (Econ Mode) และโหมดสปอร์ต (Sport Mode) และนอกจากนี้ยังมีโหมดที่ 4 HV Mode เพื่อรักษาสภาพการชาร์จแบตเตอรี่ โดยสามารถเลือกโหมดนี้ควบคู่ไปกับ โหมดปกติ (Normal Mode) โหมดประหยัด (Econ Mode) และโหมดสปอร์ต (Sport Mode) ได้อีกด้วย

3. HONDA CLARITY  Electric

ฮอนด้า คลาริตี้ อิเล็คทริค เหมาะกับผู้ที่ต้องการรถซีดานที่มีห้องโดยสารกว้างขวาง สะดวกสบาย และตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน ฮอนด้า คลาริตี้ อิเล็คทริค มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังสูงสุด 161 แรงม้า (120 กิโลวัตต์) ด้วยแรงบิดสูงสุดที่ 221 ปอนด์-ฟุต (หรือประมาณ 299.64 นิวตัน-เมตร) และแบตเตอรี่ 25.5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ที่สามารถชาร์จไฟได้ถึง 240 โวลต์ ภายใน 3 ชั่วโมง และเมื่อใช้การชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้าแบบกระแสตรง พร้อมระบบหัวชาร์จมาตรฐาน SAE (SAE Combined Charging System) จะสามารถชาร์จได้ถึงร้อยละ 80 ภายใน เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น

ฮอนด้า คลาริตี้ อิเล็คทริค มีอัตราการประหยัดน้ำมัน (EPA Fuel economy rating) สูงถึง 120/102/111 ไมล์ต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอน (MPGe) (การขับขี่ ในเมือง/ทางหลวง/แบบผสม) (หรือประมาณ 50/42.5/46.25 กิโลเมตร/ลิตร ตามลำดับ) สามารถปรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่ได้ 3 โหมด เช่นเดียวกับ คลาริตี้ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ได้แก่ โหมดปกติ (Normal Mode) โหมดประหยัด (Econ Mode) และโหมดสปอร์ต (Sport Mode)

4. HONDA CLARITY FuelCell รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง
4. HONDA CLARITY FuelCell รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง

ฮอนด้าให้ความสำคัญกับเซลล์เชื้อเพลิง ที่สุดแห่งเทคโนโลยียานยนต์ที่ไม่มีค่าไอเสีย และคลาริตี้ ฟิวเซลล์ นับเป็นผู้นำเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งอนาคต

แผงเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell stack) นับเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการติดตั้งใน คลาริตี้ ฟิวเซลล์ โดยมีขนาดเล็กลงร้อยละ 33 และสามารถเพิ่มพลังงานได้ถึง ร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับ เอฟซีเอ็กซ์ คลาริตี้ ที่เป็นรุ่นก่อนหน้านี้ โดยแผงเซลล์เชื้อเพลิงที่ผสานระบบส่งกำลัง มีขนาดเทียบเท่ากับเครื่องยนต์ V-6 และได้รับการติดตั้งในห้องเครื่อง จึงทำให้ภายในห้องโดยสารกว้างขวาง สะดวกสบาย สำหรับ 5 ที่นั่ง

คลาริตี้ ฟิวเซลล์ สามารถวิ่งได้ระยะทางถึง 366 ไมล์ (ประมาณ 589 กม.) นับเป็นรถยนต์ที่สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลที่สุด เมื่อเทียบกับรถฟิวเซลล์ และรถพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่รุ่นอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาและมีอัตราการประหยัดน้ำมัน (EPA Fuel economy rating) 68 ไมล์ต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอน (MPGe) (หรือประมาณ 28.3 กิโลเมตร/ลิตร) สำหรับการขับขี่แบบผสม

5. Honda NeuV

ฮอนด้า นิววี เป็นรถยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และเป็นการผสานฟังก์ชั่นการขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้อย่างลงตัว โดย NeuV สามารถตรวจจับสภาวะทางอารมณ์ของผู้ขับได้ โดยประมวลผลจากการแสดงออกทางสีหน้า และน้ำเสียง แล้วจึงเลือกฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ NeuV ยังสามารถเรียนรู้ไลฟ์สไตล์และความชอบของผู้ขับ และสามารถนำเสนอทางเลือกต่างๆ ให้กับผู้ขับ ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ จึงนับเป็นการเชื่อมต่อการสื่อสารกันระหว่างคนกับรถได้อย่างเป็นธรรมชาติ และที่สำคัญ NeuV ยังเป็นรถขับเคลื่อนอัตโนมัติที่สามารถแบ่งปันการใช้งานกับผู้อื่นได้ด้วย ในกรณีที่เจ้าของรถไม่ได้ใช้งานและเจ้าของรถอนุญาต

6. Honda Sports EV Concept
6. Honda Sports EV Concept

ฮอนด้า สปอร์ต อีวี คอนเซ็ปต์ มุ่งเน้นการสร้างความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียวกับรถ ผสมผสานระบบการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้อย่างลงตัว รถยนต์ต้นแบบรุ่นนี้ใช้แพลตฟอร์มเดียวกับ ฮอนด้า เออร์เบิน อีวี คอนเซ็ปต์ (Honda Urban EV Concept) ด้วยดีไซน์โครงสร้างตัวถังอันเป็นเอกลักษณ์ แผงหน้าปัดด้านหน้าที่ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่ายตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ และรูปลักษณ์ภายนอกโค้งมน จึงเป็นยนตรกรรมสปอร์ตแห่งอนาคตที่พร้อมมอบประสบการณ์การขับขี่ที่สนุกเร้าใจ และสร้างความผูกพันทางอารมณ์ในการครอบครองเป็นเจ้าของรถรุ่นนี้

7. Honda Urban EV Concept

ฮอนด้า เออร์เบิน อีวี คอนเซ็ปต์ ได้รับการออกแบบแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาใหม่สำหรับยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น นับเป็นแนวทางการออกแบบยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้ารุ่นที่จะผลิตและจำหน่ายในอนาคต ด้วยโครงสร้างตัวถังขนาดคอมแพคท์ จึงเหมาะกับการขับขี่ในเมือง และการออกแบบที่เรียบง่าย จึงมอบ “ความสุขในการขับขี่ได้อย่างมีชีวิตชีวา” (Joy of Lively Driving) และเป็น “เพื่อนร่วมทางที่สร้างความผูกพัน” (Friendliness that inspires attachment) กับลูกค้าผู้เป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ฮอนด้า เออร์เบิน อีวี คอนเซ็ปต์ ยังรองรับการสื่อสารระหว่างคนกับรถ ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และจอแสดงผลด้านหน้าของรถ ที่สามารถแสดงข้อความและทักทายผู้คนได้

8. Honda Riding Assist-e
8. Honda Riding Assist-e

Honda Riding Assist-e ได้รับการพัฒนามาจากเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัว อันเป็นเอกลักษณ์ของฮอนด้า ที่ได้วิจัยกับหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ รถจักรยานยนต์ที่มีระบบช่วยการทรงตัวนี้ สามารถทรงตัวอยู่ได้เอง แม้ขณะขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ เพื่อช่วยลดการแบกรับน้ำหนักของผู้ขับขี่ รถจักรยานยนต์รุ่นนี้จึงขับขี่ได้ง่าย และทำให้การใช้งานในชีวิตประจำวันสนุกมากยิ่งขึ้น Honda Riding Assist-e ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นอีกก้าวของฮอนด้า ตามวิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้าง “ความสุขในการเดินทางให้กับผู้คน” (Enjoying the Freedom of Mobility) และ “การเป็นสังคมที่สะอาดปราศจากมลพิษ” (carbon-free society)

9. UNI-CUB B

พาหนะส่วนบุคคลที่ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “การกลมกลืนร่วมกับผู้คน” และสามารถใช้งานได้ในพื้นที่ที่ผู้คนสัญจรผ่านไป-มา UNI-CUB β ได้รับการพัฒนามาจากเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัวของฮอนด้า จึงสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระในทิศทางด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง และในแนวทแยงมุม เพียงแค่โน้มตัวไปในทิศทางที่ต้องการ UNI-CUB β มาพร้อมระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ (ROS - Robot Operating System) ที่สามารถใช้ได้กับโปรแกรมการเชื่อมต่อการใช้งานแอพพลิเคชั่น (API – Application Program Interface) จึงสามารถควบคุมพาหนะส่วนบุคคลเครื่องนี้ได้จากระยะไกล และสามารถใช้งานได้หลายแบบ อาทิ การบริการจัดส่งของ หรือ การนำทางแขกไปยังที่นั่งด้วยการตั้งโปรแกรมเส้นทางไว้ล่วงหน้า ฮอนด้ายังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์พาหนะส่วนบุคคลเครื่องนี้เพื่อให้สามารถใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น ตามคอนเซปท์ “ridable Internet of Things”

10. Safe Swarm
10. Safe Swarm

คอนเซ็ปท์ “Safe Swarm” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโลกธรรมชาติ ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวคิดของฮอนด้าเพื่อทำให้การจราจรลื่นไหลและคล่องตัว (เป็นการเลียนแบบพฤติกรรมของฝูงปลา) โดยใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างรถยนต์แต่ละคันผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet-connected and vehicle-to-vehicle communication automotive technologies) จากคอนเซ็ปท์ “Safe Swarm” ฮอนด้ามุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมแห่งการเดินทางที่ทำให้ภาพรวมการจราจรทั้งหมดปลอดภัยและคล่องตัว ไม่เพียงแต่รถคันใดคันหนึ่งเท่านั้น โดยคอนเซปท์การสื่อสารระหว่างรถยนต์ เพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสภาพถนนและสิ่งกีดขวางบนถนน นอกจากนี้ ยังช่วยลดการจราจรติดขัดด้วยการช่วยผู้ขับเปลี่ยนเลน และเมื่อถึงทางแยกที่มีการรวมเลน ระบบจะวิเคราะห์ความเร็วของรถ และลดความเร็วในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้การเปลี่ยนเลนและรวมเลนลื่นไหลและคล่องตัว

11. Honda HMI Concept

คอนเซปท์ Honda HMI (Human Machine Interface) เป็นการนำเสนอแนวคิดของฮอนด้า ในสภาพการขับขี่แบบใหม่ ที่ทำให้การขับขี่สะดวกสบาย และปลอดภัย โดยเป็นระบบการจดจำภาพที่มีการขับขี่อัตโนมัติ รวมถึงมีหน้าจอแสดงผลแบบใหม่ ที่รวมเอาระบบหน้าจอสัมผัสและการควบคุมจากระยะไกลเข้าไว้ด้วยกัน

12. LiB-AID E500
12. LiB-AID E500

แบตเตอรี่แปลงพลังงานไฟฟ้าขนาดพกพา ที่ให้พลังงานไฟฟ้าคุณภาพสูง เทียบเท่ากับแหล่งพลังงานจากภายในบ้าน LiB-AID E500 จึงเป็นแบตเตอรี่แปลงพลังงานไฟฟ้าที่พกพาได้อย่างสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีการปล่อยค่าไอเสีย